ผลกระทบของ “เขื่อนไซยบุรี” กับชีวิตริมฝั่งโขงที่ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล
เขื่อนไซยบุรี เขื่อนสัญชาติไทยที่อยู่ในประเทศลาว ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นมาอย่างยาวนานถึงผลกระทบอันน่าเศร้าของมัน กับชีวิตริมฝั่งของของชาวลาวที่จะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลแบบนำกลับคืนมาไม่ได้
เขื่อนไซยบุรี เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแขวงไซยบุรีในลาวตอนเหนือ มีจุดประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากลำน้ำโขง โดยโครงการนี้มีกำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 มีพลังผลิตไฟฟ้ามากถึง 1,285 เมกะวัตต์ และถ้าเปิดใช้งานจริงจะทำให้เขื่อนไซยบุรีเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียได้แบบสบายๆ และนั่นอาจจะเป็นข้อมูลที่ดูน่าสนใจและน่าตื่นเต้นไม่น้อย แต่ในความเป็นจริง เขื่อนสัญชาติไทยในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ กลับซ่อนเรื่องราวมากมายของผู้คนริมฝั่งโขงที่จะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลองคิดดูว่ามันจะน่าเศร้าแค่ไหนถ้าวันใดวันหนึ่งที่คุณเคยมีวิถีชีวิตที่เงียบสงบ มีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับสายน้ำโขงมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่กลับต้องเปลี่ยนชีวิตแบบกระทันหันและถิ่นที่อยู่ก็ต้องเปลี่ยนสภาพไป และนั่นคือสิ่งที่ชาวลาวลุ่มน้ำโขงจะต้องประสบพบเจอกว่า 15 หมู่บ้าน 887 ครอบครัวอย่างเป็นทางการ
ลำน้ำโขงมีความยาวโดยตลอด 4,909 กิโลเมตร พาดผ่านประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ถือเป็นลำน้ำยาวที่สุดสายหนึ่งในภูมิภาค แน่นอนว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 795,000 ตารางกิโลเมตร ผู้คนอาศัยลำน้ำโขงในการดำเนินชีวิต ทั้งการประมง เกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งการคมนาคม และยังไม่รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร การร่อนทอง การหาของป่า และผลการทบต่อระบบนิเวศน์ตลอดลำน้ำโขงภายใต้เขื่อนแห่งนี้
องค์กรอนุรักษ์และเครือข่ายภาคประชาชน พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ได้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า การสร้างเขื่อนไซยบุรีจะไปขวางเส้นทางปลาอย่างน้อย 23 พันธุ์ โดยเขื่อนจะเป็นอุปสรรคในการเดินทางเพื่อไปวางไข่ ผสมพันธุ์ การเติบโต และหนึ่งใน 23 สายพันธุ์นั้นมีปลาบึกอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการออกมาพูดถึงเทคโนโลยีระบบทางผ่านปลา บันไดปลาโจน ลิฟต์ปลา ช่องทางเดินเรือ หรือเทคโนโลยีที่กำลังนำมาพูดถึงกันคือใบพัดปั่นไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับปลา แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้คนลุ่มน้ำโขงที่ติดตามการเคลื่อนไหวอยู่เลยแม้แต่น้อย
เขื่อนไซยบุรีได้รับฉายาว่าเป็นเขื่อนของคนไทยที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนั่นก็เพราะกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้กว่า 95% จะถูกขายให้กับประเทศไทย และบริษัทที่สร้างเขื่อนแห่งนี้ก็เป็นบริษัทของคนไทย รวมถึงบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าก็มีหุ้นส่วนของไทยเป็นหุ้นหลักด้วย มีอายุสัญญายาวนานถึง 29 ปี
ภาพที่คุ้นเคยของชาวลุ่มน้ำโขงอาจจะหายไปในอีกไม่นาน วัฒนธรรมการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไป แหล่งท่องเที่ยวที่เคยเป็นธรรมชาติจะหายไป หลายครอบครัวในปัจจุบันได้ตัดสินใจออกจากบ้านเกิดตัวเองที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา ไปหางานทำในตัวเมืองและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมองไม่เห็นอนาคตว่าที่ทำกินของพวกเขามาตั้งแต่อดีตจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีกลุ่มออกมารวมตัวประท้วงกัน แต่ก็คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงกำลังเงินที่มีมากกว่ากำลังของกระแสน้ำได้ การถูกคุกคามจากเขื่อนแห่งนี้อาจทำให้ภาพของอดีตหายไปอย่างเอากลับคืนมาไม่ได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอีกหลายล้านชีวิตที่อยู่ลุ่มน้ำโขง ความเจริญรุ่งเรืองอาจจะถูกนำมาแทนที่ แน่นอนว่ามันอาจจะดีขึ้น แต่เขาอยากมีชีวิตแบบนั้นหรือเปล่า……พวกเราได้ถามพวกเขาหรือยังหนอ?